
เมื่อรู้เทคนิคบริหารรายจ่าย ให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะสร้างความมั่นคงให้สามารถออมเงินได้อย่างต่อเนื่อง โดยขอแนะนำ 3 เทคนิค ที่จะช่วยให้การเก็บเงินของทุกคนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
1. “เก็บ ก่อน ใช้”
... เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางเดือนเราเก็บเงินได้ แต่บางเดือนกลับทำไม่ได้ แม้เราจะประหยัดแค่ไหนก็ตาม
... นั่นอาจเป็นเพราะเราไม่แยกเงินเก็บออกมาทันที
...ลองสังเกตดูว่า หากใครมีเงินหรือรายได้เข้ามาแล้ว ใช้ก่อนเก็บ รับรองว่า โอกาสที่จะเก็บเงินได้นั้นมีน้อยมาก เพราะความต้องการของเรานั้นมีมากมาย จนทำให้เราอดใจไม่ไหว หรือบางครั้งเราก็มีเรื่องฉุกเฉินที่ทำให้เราจำเป็นต้องใช้เงินจดหมดไป
ดังนั้น วิธีป้องกันคือ เมื่อได้รับเงินมาแล้ว เราต้องรีบแบ่งเงินไว้แบบ เก็บก่อนใช้
... คำถามต่อมา จะเก็บกี่ % ของรายรับ
... หลักที่เราได้ยินบ่อย ๆ คือ หัก 10-20% ของรายรับ แต่บางคนเพิ่งเริ่มทำงาน ครั้นจะเก็บ 10% เลยก็อาจยากไป เพราะยังไม่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือนเลย เอาเป็นว่าเก็บเท่าที่เราไหว ไปก่อน อาจเริ่มด้วย 3% 5%
... แต่สิ่งสำคัญ คือ มีเท่าไหร่ ขอแค่ต้องแบ่งเก็บ เมื่อรายรับเพิ่ม ก็แบ่งมาเก็บออมเพิ่มขึ้นด้วย วิธีนี้จะช่วยสร้างวินัยได้เป็นอย่างดีเลย
เทคนิค - เมื่อมีรายรับเข้ามา ควรจัดสรรเงินเป็นสัดส่วน ตัวอย่างเช่น เมื่อได้เงินเดือนมา อาจแบ่งเป็นเงินเก็บไปลงทุน 20% ใช้จ่ายสิ่งจำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ 60% เงินรางวัลให้ตัวเอง เช่น ไปเที่ยว 10% สำหรับพัฒนาตัวเอง เช่น เรียนคอร์สออนไลน์ 5% อื่น ๆ 5 %
2. เก็บเงินให้ถูกที่
... เพราะเก็บเงินต่างที่ เงินโตต่างกัน?
... การเก็บเงินไว้เฉยๆ หรือออมเพียงอย่างเดียว เงินของเราอาจโตไม่ทันเงินเฟ้อ หรืออำนาจซื้อลดลง ดังนั้นเมื่อเรามีเงินเก็บแล้ว เราควรเอาเงินไปลงทุนให้เงินงอกเงย
... ตัวอย่าง หากเราลดชานมไข่มุก แก้วละ 40 บาท แล้วนำเงินไปเก็บไว้เฉย ๆ 1 ปี จะมีเงิน 14,600 บาท แต่หากนำไปลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี เมื่อครบ 5 ปี จะมีเงิน 98,460 บาท และ 10 ปี จะมีเงินถึง 200,920 บาท!
... เห็นไหมว่า การเก็บเงินต่างที่ เงินก็โตต่างกัน หากเรานำเงินเก็บไปลงทุน ด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้นและเวลาที่ลงทุนก็จะทำให้เงินงอกเงยขึ้นได้ เราอาจเลือกลงทุนเอง หรือให้ผู้เชี่ยวชาญลงทุนให้ หรือที่เรียกว่า การลงทุนในกองทุนรวมก็ได้
... การลงทุนเองจะเหมาะกับผู้มีเวลาและเข้าใจการลงทุนเป็นอย่างดี
... การลงทุนผ่านกองทุนรวมจะเหมาะกับคนไม่มีเวลา หรือคนเพิ่งเริ่มลงทุน ที่ยังมีความรู้เรื่องลงทุนไม่มากนัก
ข้อควรรู้ - สินทรัพย์ลงทุนมีหลากหลาย ความเสี่ยงและผลตอบแทนก็แตกต่างกันไป ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน เราควรดูเป้าหมาย และความสามารถในการรับความเสี่ยงเราด้วย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องผลิตภัณฑ์การออมการลงทุน คลิกที่นี่
3. เทคนิคอื่น ๆ
• แบ่งเงินใช้แต่ละวัน --> ช่วยให้เรามีวินัยในการใช้เงิน ไม่ใช้เกินตัว
• แยกบัญชีธนาคาร --> เช่น บัญชีเงินเดือน ค่าใช้จ่ายในบ้าน บัญชีลงทุน บัญชีรางวัลให้ตัวเอง
เพราะหากใช้ร่วมกัน อาจเผลอใช้ไม่รู้ตัว
• เงินออมฉุกเฉิน ควรมีสำรองไว้อย่างน้อย 6 เดือน --> หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แผนของเราจะได้ไม่สะดุด
• เพิ่มเงื่อนไขการออม เช่น สะสมธนบัตรใบละ 50 บาท ไว้ทุกครั้งที่พบ
นี่ก็เป็นเคล็ดลับการออม การลงทุนที่อยากชวนเพื่อน ๆ ลองทำดู สิ่งสำคัญที่สุดคือ เริ่มลงมือทำและมีวินัย!
ทั้งนี้ อย่าลืมหมั่นสำรวจแผนตัวเองอยู่เสมอ เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยนอาจทำให้พอร์ตลงทุนของเราเปลี่ยนไปด้วย จึงต้องหมั่นสำรวจปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และติดตามผลอยู่เสมอ